ระบบไฟบ้าน เป็นรายละเอียดสำคัญที่ต้องวางแผนให้ดีตั้งแต่ออกแบบและก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะใส่ใจเพียงว่า จำนวนปลั๊กในบ้านต้องมีกี่จุด ตรงไหนบ้าง เพื่อให้รองรับกับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง แต่มักจะลืมนึกถึงการเลือกระบบไฟฟ้าให้พอดีกับปริมาณการใช้งานไฟในบ้าน ซึ่งหากเลือกใช้ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น แรงดันไฟฟ้าตก-ไฟเกิน (Under-Over Voltage), กระแสเกินพิกัด (Over Load), ไฟฟ้าดับทั้งบ้านหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ เนื้อหานี้ HomeGuru นำความรู้เรื่อง ระบบไฟบ้าน มาแบ่งปันกัน เพื่อให้ผู้อ่านเลือกสิ่งที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดครับ
เพราะเราต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตภายในบ้าน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ไฟฟ้า เพื่อใช้ในการให้พลังงานกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ และในขณะใช้งาน ผู้ใช้ย่อมต้องคาดหวังความเสถียร ไฟไม่ตก ไฟไม่ดับ ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟสกันมาบ้าง แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร สำคัญกับบ้านอย่างไรและอาจมีคำถามตามมา เช่น บ้านหลังใหญ่ใช้ไฟ 1 เฟสดีไหมหรือควรใช้ 3 เฟสไปเลย บ้านหลังเล็กต้องใช้ไฟ 1 เฟสเท่านั้นใช่หรือเปล่า จะสรุปให้เห็นภาพตามง่ายๆ ดังนี้ครับ
- อ่านบทความเกี่ยวกับสายไฟเพิ่มเติมได้ที่ รู้เรื่องสายไฟ ปลอดภัยอย่างมืออาชีพ
ระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟส (1phase 2 wire)
ระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟส มีมิเตอร์ไฟแรงดัน 220V (โวลต์) มีสายไฟ 2 สาย คือ สายไฟ (L) เเละสายนิวทรอล (N) ต่อเข้ากับตู้เมนไฟฟ้าในบ้าน (Main Breaker หรือเรียกว่าคอนซูเมอร์ยูนิต) เหมาะกับบ้านพักอาศัยทั่วไป บ้านจัดสรร หรือห้องชุดที่คาดว่าจะใช้ไฟไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส เพราะค่าใช้จ่ายในการขอติดตั้งและค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สูงมากจนเกินไป และกำลังไฟครอบคลุมการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ 10-20 ชุด, พัดลม 100 วัตต์ 1-4 ตัว, เครื่องปรับอากาศ 12,000-20,000 BTU 1-3 เครื่อง, โทรทัศน์ 250 วัตต์ 1-3 เครื่อง, เครื่องซักผ้า 3,000 วัตต์ 1 เครื่อง หากการใช้งานทั่วไปลักษณะนี้ ระบบไฟฟ้า 1 เฟสก็เพียงพอต่อความต้องการครับ
![]() |
![]() |
![]() |
---|
ระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส
ระบบไฟฟ้ารูปแบบ 3 เฟส (3 phase 4 wire) มิเตอร์ไฟแรงดัน 220/380V มีสายไฟ 4 เส้น สายไฟ (L) จำนวน 3 เส้น เเละสายนิวทรอล (N) 1 เส้น ต่อเข้ากับตู้เมนไฟฟ้า ระบบนี้จะให้แรงดันไฟฟ้ามากกว่า จึงสามารถรองรับสำหรับบ้านขนาดใหญ่ อาคารพาณิชย์ Home Office โรงงาน หรืออาคารใดๆ ที่ต้องเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมาก เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ ที่มีกำลังวัตต์สูงเปิดใช้งานพร้อมๆ กัน
- อ่านบทความเกี่ยวกับปัญหาไฟตกเพิ่มเติมได้ที่ ไฟตก รู้สาเหตุแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
![]() |
![]() |
![]() |
---|
สำหรับบ้านที่มีการเพิ่มจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกำลังไฟมากเพิ่มทีหลังโดยไม่ได้วางแผนรองรับไว้ก่อน เช่น เพิ่มรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มแอร์จำนวนมาก มิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟสที่ติดตั้งไว้อาจไม่สามารถรองรับได้ ส่งผลให้เกิดไฟตัด ไฟตกบ่อยครั้ง สันนิษฐานได้ว่าระบบไฟฟ้าเดิมไม่เพียงพอ อาจต้องเปลี่ยนมาใช้ไฟขนาด 3 เฟสแทน
โดยหลักการทำงานของระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะไม่สามารถนำมาใช้กับระบบแสงสว่างหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชิ้นได้โดยตรง แต่เป็นการนำไฟฟ้า 3 เฟสมาแบ่งแยกให้เป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟส 3 ชุด แล้วกระจายไปตามจุดต่างๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้า เป็นการเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า แต่ในกรณีที่บ้านเป็นไฟ 1 เฟสจะเพิ่มขนาดเป็น 3 เฟสไม่ได้ หากต้องการใช้ไฟที่มีขนาดมากกว่า 30(100) แอมป์ 3 เฟส 4 สาย ต้องขอขยายเขตติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะมีขั้นตอนที่เป็นระบบและมีค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าติดตั้งและค่าประกันการใช้ไฟฟ้าตามเงื่อนไขการใช้งานนั้นๆ ทั้งนี้การติดตั้งระบบไฟฟ้า 3 เฟส จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีช่างไฟฟ้าหรือวิศวกรไฟฟ้าผู้ชำนาญการในการ Load Balance เพื่อควบคุมไฟฟ้าเฟสต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ถึงจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีกด้วยครับ
- อ่านบทความเกี่ยวกับปัญหาไฟรั่วเพิ่มเติมได้ที่ เช็คก่อนช็อต 4 สัญญานเตือน ไฟฟ้ากำลังรั่ว
![]() |
![]() |
![]() |
---|
การเลือกใช้ระบบไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส จุดสำคัญจึงอยู่ที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้า หากเป็นบ้านเรือนทั่วไปก็สามารถใช้ระบบไฟฟ้า 1 เฟสได้อย่างสบายใจครับ แต่หากจำนวนไฟฟ้าเยอะขึ้นหรือใช้มากกว่าบ้านทั่วๆ ไป การพิจารณาระบบไฟฟ้า 3 เฟส ย่อมตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า
- อ่านบทความเกี่ยวกับระบบไฟในบ้านเพิ่มเติมได้ที่ ดูแลระบบไฟในบ้านหลังน้ำท่วม
เห็นไหมครับว่า การเลือกระบบไฟฟ้านั้นมีความจำเป็นมาก ก่อนเลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าจึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า คำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน ให้เหมาะสมระบบไฟฟ้าที่ต้องการติดตั้ง หรือคำนวณเผื่ออนาคตอันใกล้ เพราะหากมีการต่อเติมขยับขยายภายหลังจะได้รองรับกับการใช้งาน โดยที่ไม่ต้องปรับแก้หรือขออนุญาตไฟใหม่ภายหลังครับ
สอบถามเกี่ยวกับบริการตรวจเช็คระบบไฟเพิ่มเติม
Inbox เพจ Home Service by HomePro : m.me/Homeservicebyhomepro
Line : https://lin.ee/uN8D4Zl หรือ @Homeproservice
Call Center 1284
อยากทราบว่าทำไมถึงไม่มีเฟส 2 ครับทำไมถึงมีเฟส 1 และเฟส 3 เฟส 2 หายไปไหนครับ
กำหนดจากการไฟฟ้าครับ มีเพียงแค่ 1 เฟส กับ 3 เฟส ไม่มี 2 เฟสครับ
ขอบคุณครับ
หม้อ5/15แอมบ้านผมนะครับมีตู้เย็นสองตู้ No Frostแอร์12000กะ22000พอรอรับได้หรือเปล่าไม่ค่อยค่อยกล้าเปิดแอร์พร้อมกันครับสายเมนในบ้านค่อนข้างใหญ่เท่าที่ผมดูครับ
หากเปิดแอร์พร้อมกันทั้ง 2 เครื่องและบวกกับมีตู้เย็นสองตู้ ดังนั้นหม้อ 5/15 แอมจะไม่เพียงพอครับ หากใช้งานพร้อมกันเบรกเกอร์อาจจะตัด แนะนำให้เปลี่ยนหม้อเป็น 15/45 แอม (ซึ่งบ้านปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นขนาดนี้) แต่ต้องดูสายเมนภายในประกอบด้วยนะครับ ว่ารองรับกับ 15/45 หรือไม่ แต่หากลูกค้ายังไม่อยากเปลี่ยนหม้อ ต้องขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นหลัก ว่าการใช้งานจริงเปิดพร้อมกันหรือเปิดสลับกัน และในอนาคตหากจะติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่ม เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น กำลังโหลดของหม้อ 5/15 อาจไม่เพียงพอ ทำให้ใช้งานพร้อมกันไม่ได้ครับ
ขอบคุณครับ
หม้อมิเตอร์15A-30Aต่างกันอย่างไร
ความแตกต่างของขนาดมิเตอร์ มีไว้เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้งาน สามารถเลือกตามความเหมาะสมกับการใช้งาน หรือจำนวนสินค้าในบ้าน
เนื่องจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ เช่น แอร์, เครื่องทำน้ำอุ่น-ร้อน จะมีการกินค่ากระแสไฟฟ้าสูง หากเลือกขนาดมิเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าจะส่งผลทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้งานไม่ได้ หรือ อาจจะต้องสลับการใช้งานสินค้าทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน
ขนาดของมิเตอร์ขนาด 15A. จะรับโหลดค่ากระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 45A. ส่วนขนาดของมิเตอร์ขนาด 30A. จะรับโหลดค่ากระแสไฟฟ้า
ได้สูงสุด 100A. ครับ
การเลือกขนาดมิเตอร์ที่มีขนาดของแอมป์ (A.)สูงขึ้น จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระกับทางการไฟฟ้าในการเลือกขนาดมิเตอร์สูงขึ้นตามลำดับ
จึงควรเลือกขนาดมิเตอร์ตามการใช้งานจริง
ขอบคุณครับ
บ้านผมแอร์3ตัว/ตู้เย้น1/tv1/เนตบ้าน1/เครื่งซักผ้า1/กาน้ำร้อน/หม้อหุ้งข้าวหนึ่ง/เครื่องทำน้ำร้อน1/ไฟ19หลอด/พัดลม3ตัว/คอมpc/โน๊ตบุค**
เปิดใช้พร้อมกัน
หลอดไฟ+แอร์/Tv/เนตบ้าน( อาจมีหม้อหุ้งข้าว)
ผมใช้1เฟส2สาย พอไหมครับ อาจจะติดแร์ด้านล่างเพิ่มด้วย
เนื่องจากขนาดมิเตอร์มีทางเลือกให้ผู้ใช้งาน สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับการใช้งานในบ้านได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นสามารถเลือกขนาดมิเตอร์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้งานเพิ่มขึ้นครับง
ปัจจุบันบ้านเรือนทั่วไปจะใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟส และขนาดเริ่มต้นของมิเตอร์คือมิเตอร์ขนาด 15A. จะรับโหลดค่ากระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 45A.
ดังนั้นลูกค้าสามารถใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟสได้ แต่ขอให้ดูที่ขนาดมิเตอร์ว่ามีขนาดแอมป์(A.) เพียงพอต่อการรับโหลดค่าการกินกระแสไฟฟ้าของเครื่องใช้ในบ้านหรือไม่หากต้องเปิดใช้งานพร้อมกัน (ซึ่งหากสลับเปิดใช้งานมิเตอร์ขนาด 15 A.น่าจะเพียงพอครับ)
ส่วนมิเตอร์ที่เป็นระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะมีราคาสูง และเหมาะกับหน้างานที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมากๆ เช่น โรงงาน, หอพักฯ เพื่อให้แรงดันกระแสไฟฟ้าไหลเวียนได้สม่ำเสมอเพื่อป้องกันไฟตกอีกทีครับ
ดังนั้นการเลือกขนาดมิเตอร์ที่มีขนาดของแอมป์ (A.)สูงขึ้น หรือ ระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระกับทางการไฟฟ้าในการเลือกขนาดมิเตอร์สูงขึ้นตามลำดับ
จึงควรเลือกขนาดมิเตอร์ตามการใช้งานจริง
ขอบคุณครับ