สายฉีดชำระ ตัวช่วยทำความสะอาดที่ขาดไม่ได้ของคนไทย เป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดที่พบเห็นได้ทั่วไปตามที่พักอาศัยและห้องน้ำสาธารณะในประเทศไทย รวมถึงบางประเทศในแถบเอเชียกลาง ถือเป็นสุขภัณฑ์ที่วิวัฒนาการมาจากสุขภัณฑ์ประเภทฝักบัว แต่จะอยู่ในรูปแบบหัวฉีดแบบลั่นไกด้วยมือ คล้ายๆ กับหัวฉีดอ่างล้างจาน มักยึดติดอยู่กับผนังด้านข้างชักโครก โดยมีสายยางหรือสายน้ำดีเป็นส่วนเชื่อมต่อกับท่อประปาและก๊อกน้ำซึ่งจะปล่อยน้ำมากักไว้ในถังพักน้ำบริเวณพนักของชักโครก นอกจาก สายฉีดชำระ จะเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งในห้องน้ำ ยังถือเป็นแหล่งจ่ายน้ำที่อำนวยความสะดวกในการชำระล้างสิ่งปฏิกูลมากกว่าวิธีอื่นๆ
HomeGuru จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักอุปกรณ์คู่ห้องน้ำคนไทยชิ้นนี้ให้มากขึ้นครับ
ประเภทสายฉีดชำระ ที่นิยมใช้ในบ้าน
สายฉีดชำระมีหลายประเภทตามวัสดุที่ผลิต แต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน ซึ่ง ประเภทสายฉีดชำระที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทนี้ครับ
1. สายฉีดชำระหัวโครเมียม มีความแข็งแรง ทนทาน ไม่เปราะหักง่าย สามารถป้องกันการเกิดสนิมได้เป็นอย่างดี มีความแวววาวสวยงาม แต่อาจมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบบอื่น
2. สายฉีดชำระหัวสแตนเลสสตีล มีความแข็งแรง ทานทาน ใกล้เคียงกับแบบหัวโครเมียม มีความแวววาวสวยงาม แต่เมื่อใช้งานไปสักระยะก็อาจเกิดปัญหาสนิมขึ้นได้ ราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน
3. สายฉีดชำระหัวพลาสติก มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ แต่ค่อนข้างชำรุดแตกหักเสียหายง่าย ไม่ค่อยทนทานเท่าไรนัก
![]() |
![]() |
![]() |
---|
เลือกซื้อ สายฉีดชำระ แบบไหนดี
หลายคนอาจมีคำถามว่าจะเลือกซื้อสายฉีดชำระแบบไหนดี หากจะให้ฟันธงก็คงต้องแนะนำให้เลือกซื้อ สายฉีดชำระ ที่หัวชำระเป็นเหล็กเคลือบด้วยโครเมียม เพราะนอกจากจะให้ความแข็งแรง ทนทานกว่าหัวชำระแบบอื่นๆ แล้ว ยังช่วยป้องกันสนิมได้ดีกว่าด้วย ส่วนบริเวณสายยางส่งน้ำ แนะนำให้เลือกสายยางแบบที่หุ้มด้วยเส้นโลหะถัก ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาเรื่องสายยางหักงอได้ สุดท้ายคือตัวสต๊อปวาล์วที่ส่วนใหญ่มักติดตั้งไว้บริเวณใต้ชักโครก เพื่อซ่อนจากสายตา การเลือกสต๊อปวาล์วจึงควรเลือกแบบที่หัวบิดเปิด-ปิดง่าย และแยกออกมาจากชักโครก เพื่อความสะดวกในการใช้งานและการซ่อมแซมด้วยครับ
- อ่านวิธีเลือกสายชำระเพิ่มเติมได้ที่ สายชำระ เลือกเป็นประหยัดไปนาน
- อ่านวิธีแยกโซนห้องน้ำเพิ่มเติมได้ที่ 5 วิธีแยกโซนเปียกแห้งให้ห้องน้ำโดยไม่ต้องกั้นห้อง
สต๊อปวาว์ล สำคัญอย่างไรกับสายฉีดชำระ
สต๊อปวาล์ว (Stop Valve) คือ ตัวควบคุมการจ่ายน้ำไปยังสุขภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและซ่อมแซมจึงควรติดตั้งสต๊อปวาล์วแยกไว้ตามอุปกรณ์แต่ละชิ้น เพราะหากมีอุปกรณ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งเสียหาย อุปกรณ์ชิ้นอื่นก็ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติครับ
นอกจากนี้สต๊อปวาล์วยังช่วยลดการสึกหรอของเกลียวท่อประปาที่ผนัง เนื่องจากหากมีการบิดเข้าออกบ่อยๆ กรณีเปลี่ยนสุขภัณฑ์ก็มีโอกาสทำให้เกลียวที่ท่อประปาเสียหายได้ ส่งผลให้เกิดปัญหารั่วซึมตามมา ซึ่งการรั่วซึมในจุดนี้จะแก้ไขได้ลำบาก เพราะเกลียวท่อมักจะฝังในผนังห้องน้ำเลย ดังนั้น การติดตั้งสต๊อปวาว์ลเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ครับ
![]() |
![]() |
![]() |
---|
ปรับความแรงสายฉีดชำระ อย่างไรให้พอดี
ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักมาถึงแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเราใช้สายฉีดชำระในที่สาธารณะหรือที่ๆ ไม่คุ้นเคยมาก่อน คือ อาจเจอแรงดันน้ำจากสายฉีดที่แรงจนต้องสะดุ้งไปตามๆ กัน แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ โดยการ ปรับความแรงสายฉีดชำระ ให้เบาลงด้วยการใช้สต๊อปวาล์วครับ
ปกติแล้วสต๊อปวาล์วจะติดตั้งอยู่บริเวณข้อต่อของสายฉีดชำระคั่นอยู่ทั้งส่วนของท่อสายฉีดชำระและท่อน้ำดีชักโครก ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการเปิด-ปิดการส่งน้ำเมื่อจำเป็นต้องซ่อมแซมอุปกรณ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง เราจึงสามารถใช้กำหนดแรงดันน้ำที่จะส่งไปยังปลายสายฉีดชำระได้ โดยบิดเพื่อ ปรับความแรงสายฉีดชำระ ให้ได้ความแรงตามที่ต้องการครับ
![]() |
![]() |
![]() |
---|
สต๊อปวาล์วนั้นมีให้เลือกมากมายหลายแบบ ทั้งแบบที่ใช้กับท่อน้ำ และแบบที่ใช้กับสุขภัณฑ์โดยตรง สามารถเลือกได้ทั้งสต๊อปวาล์วทางเดียว , 2 ทาง หรือ 3 ทาง ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานครับ สำหรับการเลือกซื้อสต๊อปวาล์วที่ใช้กับสายชำระ แนะนำให้เลือกซื้อแบบสแตนเลส หรือทองเหลือง เพื่อความทนทาน สวยงาม และป้องกันสนิมได้ดีครับ
- อ่านวิธีเลือกประตูห้องน้ำเพิ่มเติมได้ที่ เลือก “ประตูห้องน้ำ” อย่างฉลาด สวย ทนนานใช้ลืม
- อ่านความรู้เกี่ยวกับตะแกรงดักกลิ่นห้องน้ำเพิ่มเติมได้ที่ ตะแกรงดักกลิ่น พระเอกตัวจริงของห้องน้ำ
สายฉีดชำระแรงดันน้ำไม่แรง แก้ปัญหาอย่างไร
ในขณะที่หลายคนพบปัญหาแรงดันน้ำสายฉีดชำระไม่แรง อีกหลายคนกลับพบปัญหาตรงข้าม นั่นคือ แรงดันน้ำสายฉีดชำระไม่แรงเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากการอุดตันภายในเส้นท่อน้ำที่มักจะพบสิ่งสกปรก เศษกรวด ทราย หรือเศษท่อพีวีซีที่อาจติดค้างอยู่ภายใน วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ การถอดหัวฉีดชำระออกมาล้างทำความสะอาดสิ่งอุดตันเหล่านี้ออก เพื่อป้องกันการอุดตันที่อาจสร้างความเสียหายให้วาล์วน้ำได้
ในกรณีที่สุขภัณฑ์ไม่ได้มีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานาน วิธีป้องกันการอุดตันที่ดีที่สุด คือ การปิดสต๊อปวาล์วตรงส่วนที่เชื่อมต่อสายฉีดชำระกับท่อน้ำดีไว้ เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันน้ำอยู่ตลอดเวลา และยกนกกดค้างให้น้ำที่เหลือด้านในไหลออกมาจนหมด เพื่อให้ไม่มีน้ำค้างอยู่ในสายครับ
สายฉีดชำระน้ำหยด แก้ไขอย่างไรให้ถูกวิธี
ปัญหาน้ำหยดจากสายฉีดชำระตลอดเวลาก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย และอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หัวสายชำระแตกหัก ก้านกดหัก ข้อต่อหลวมหรือชำรุด สายยางรั่ว เป็นต้น แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการน้ำหยดตลอดเวลานั้นมาจากการใช้แรงดันน้ำที่สูงเกินพอดี โดยเฉพาะการใช้งานบนตึกสูงอย่างหอพัก , คอนโดมิเนียม หรือในบ้านที่มีปั๊มน้ำแรงดันสูง ซึ่งสังเกตุได้จากอาการหัวฉีดสายชำระสั่นเมื่อใช้งาน
- อ่านวิธีแก้ห้องน้ำเหม็นเพิ่มเติมได้ที่ ห้องน้ำเหม็น ไม่น่าใช้ แก้ไขได้ ง่ายกว่าที่คิด!
![]() |
![]() |
![]() |
---|
วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ในกรณีนี้ คือ การควบคุมแรงดันน้ำให้อยู่ในปริมาณที่พอดี ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ นั่นคือ การติดตั้งสต๊อปวาล์วเพื่อปรับวาล์วน้ำให้ลดแรงดันน้ำลง และปิดวาล์วน้ำในเวลาที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากการรั่วซึมด้วยครับ
ปัญหา สายฉีดชำระ ที่พบส่วนใหญ่ เป็นปัญหาที่ HomeGuru เชื่อว่าทุกคนสามารถแก้ไขง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ หมั่นล้างคราบหินปูน , สิ่งสกปรกที่เกาะอยู่ภายนอก และกำจัดตะกอนที่ฝังอยู่ภายในหัวฉีดชำระอยู่เสมอ
เพื่อยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ และเพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในบ้านเองครับ